วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

กฟผ.แม่เมาะ มุ่งมั่นดูแลสิ่งแวดล้อม

Spread the love

กฟผ.แม่เมาะ มุ่งมั่นดูแลสิ่งแวดล้อมด้านกลิ่น สร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชน

 

เหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ โดยกฟผ.เหมืองแม่เมาะ มีภารกิจสำคัญในการจัดหาถ่านหิน ได้แก่ถ่านหินลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ นอกจากนั้นการดูแลชุมชนโดยรอบ รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นอีกภารกิจที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

สำหรับในการดูแลสิ่งแวดล้อม กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนทั้งด้านกลิ่น ฝุ่น เสียง น้ำ และแรงสั่นสะเทือน ตั้งแต่ในขั้นตอนของการวางแผน การดำเนินงาน รวมถึงการควบคุมดูแลเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนั้น ยังนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้ในการเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านกลิ่นที่เกิดขึ้นจากถ่านลุกไหม้จากการทำเหมือง

นายกนก ดุสิตโสภณ หัวหน้าแผนกตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเหมือง หตม-ช. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุการเกิดกลิ่นว่า ถ่านลิกไนต์เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในบรรยากาศ จะเกิดปฎิกิริยาสะสมความร้อน เมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นระดับหนึ่งจะเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ปล่อยควัน ไอน้ำ ก๊าซ และกลิ่น โดยปัญหาการลุกไหม้จะมีมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติภายในของถ่านลิกไนต์เองและปัจจัยภายนอกเช่น สภาพอากาศ ลักษณะการทำเหมือง ดังนั้นในการจัดการนอกจากมีมาตรการแก้ไขแล้ว จะต้องมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังในการติดตามตรวจสอบเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าการควบคุมกลิ่นที่เกิดจากถ่านลุกไหม้ได้รับการดูแลผลกระทบควบคู่ไปกับการทำเหมือง

 

  • · เหมืองแม่เมาะเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเฝ้าระวัง

 

ในการตรวจสอบพื้นที่ลุกไหม้ในอดีตจะใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่สำรวจด้วยสายตา ซึ่งเป็นการดำเนินงานในเชิงรับและด้วยพื้นที่บ่อเหมืองมีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เนื่องจากใช้เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว ดังนั้น ผู้บริหารเหมืองแม่เมาะโดยผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ชชม. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านกลิ่นเพื่อรับผิดชอบในการกำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขและเห็นว่าควรมีการปรับปรุงการตรวจสอบให้รวดเร็วทันสมัย เน้นในเชิงรุก หาเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้งานตรวจสอบให้พบก่อนที่จะเกิดการลุกไหม้ ซึ่งปี 2549-2550 กวธ-ช. ได้ทำการจัดซื้อกล้อง Infrared Thermography จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งจับรังสีหรือวัตถุที่แผ่รังสีความร้อนออกมา และแปลงความร้อนเป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นแปลงจากสัญญาณไฟฟ้าเป็นสัญญาณภาพ เมื่อศึกษาอุณหภูมิผิวถ่านในบ่อเหมืองและบนที่ทิ้งดินพบว่า ที่ 60 °c ขึ้นไป สามารถเกิดการลุกไหม้หรือเห็นควันเฉลี่ยภายใน 4 และ 2 วัน ตามลำดับ โดยปี 2551 คณะทำงานจัดการสิ่งแวดล้อมด้านกลิ่น จึงได้กำหนดเกณฑ์อุณหภูมิสำหรับใช้ตรวจสอบและแจ้งเตือนการเข้าดับ โดยหากอุณหภูมิมากกว่า 60  °c มีโอกาสติดไฟสูงต้องเข้าดับภายใน 2 วัน และ อุณหภูมิ 55-60  °c  มีโอกาสติดไฟปานกลางต้องเข้าดับภายใน 3 วัน

 

  • · พัฒนางานอย่างต่อเนื่องป้องกันก่อนเกิดเหตุ

 

นายกนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2552 ได้มีการพัฒนางานโดยกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนและระยะเวลาการเข้าดับให้เข้มงวดกว่าเดิม  โดยจัดโซนพื้นที่พิเศษได้แก่ บนที่ทิ้งดินและในบ่อ ต้องทำการเข้าดับภายใน 1 วัน และพื้นที่ปกติได้แก่ บริเวณไกลชุมชนหรือไม่มีกิจกรรมขุดขนต้องเข้าดับภายใน 2 วัน และนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อความรวดเร็วในการตรวจสอบและครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้นจากการขยายบ่อเหมืองด้านใต้ จึงเปลี่ยนคำเรียกจากการใช้อุณหภูมิเป็นจุดความร้อน(Hot Spot)แทน พร้อมปรับเกณฑ์ตัวแทนอุณหภูมิจุดความร้อนเข้มงวดไปเป็น 55 °c   หลังจากตั้งกองสิ่งแวดล้อมเหมืองแม่เมาะ ทาง  หตม-ช.ได้รับโอนงานสำรวจพื้นที่ลุกไหม้จากหฟ­-ช.มาดำเนินการแทน จึงได้จัดซื้อกล้อง Infrared Thermography เพิ่มและวางแผนให้มีเจ้าหน้าที่สำรวจเป็น 2 คน เพื่อทำให้งานเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  • · วิธีและผลสำรวจด้วยกล้อง Infrared Thermography

สำหรับวิธีการสำรวจนั้นจะมีแผนปฏิบัติงานรายวัน ให้เจ้าหน้าที่สำรวจตามเส้นทางที่กำหนดในบ่อและบนที่ทิ้งดิน เมื่อพบจะทำการปักป้าย วัดพิกัด จากนั้นโทรแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับจัดทำรายงานเป็นทางการแจ้ง E-mail อีกครั้ง โดยจะประเมินผลพื้นที่ลุกไหม้เทียบกับเกณฑ์ของระบบคุณภาพISO14001 ซึ่งกำหนดต้องไว้ไม่เกิน 100 ตารางเมตรต่อวัน

ผลการสำรวจ ปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ระบบคุณภาพมีพื้นที่ลุกไหม้เกิดขึ้นสูงสุด 75.6 ตารางเมตร/วัน ไม่เกินเกณฑ์ควบคุมที่กำหนด เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ามีพื้นที่ลุกไหม้ ลดลง 37% แต่มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้น 89.7 % จากข้อมูล เห็นได้ว่า ในปี 2556 หากไม่มีการตรวจสอบพบจุดความร้อนก่อนที่จะเกิดการลุกไหม้เกิดขึ้น เชื่อว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะมีพื้นลุกไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น การเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านกลิ่น จึงเป็นอีกภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเป็นการลดผลกระทบด้านกลิ่นแล้วยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนใกล้เคียงเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน นายกนก กล่าวทิ้งท้าย

 

ำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน